เศรษฐกิจไทยปี 2025 จะต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ในขณะที่การเติบโตของ GDP ถูกคาดการณ์ให้อยู่ในระดับต่ำที่ 2.6% (ตามข้อมูลจาก SCB EIC) สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย คาดการณ์การเติบโตที่ 2.7 % และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวช้าลงที่ 2.4% แต่แรงขับเคลื่อนสำคัญยังคงมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากการแข่งขันทางการค้าโลก การกลับมาของนโยบายกีดกันการค้าภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย (จากข้อมูล SCB EIC) การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการดำเนินธุรกิจ และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยกดดันที่ธุรกิจไม่สามารถมองข้ามได้
ความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ เศรษฐกิจไทยปี 2025
- เศรษฐกิจโลกที่ผันผวน: การเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลก เช่น มาตรการกีดกันทางการค้าหรือความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
- การแข่งขันที่ดุเดือดในตลาดภายใน: ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ต้องเผชิญกับการเข้ามาของสินค้าต่างประเทศที่มีราคาต่ำกว่า รวมถึงการแข่งขันกับแบรนด์ใหญ่ในประเทศ
- ความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง: ในยุคดิจิทัล ผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z (อายุ 12-26 ปี: เกิดระหว่าง พ.ศ. 2538-2552) และ กลุ่ม Millennials (อายุ 27-41 ปี: เกิดระหว่าง พ.ศ. 2523-2537) ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย และความยั่งยืน ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น
- ความกดดันจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมและสังคม: แนวโน้มการบริโภคอย่างยั่งยืนและการให้ความสำคัญกับ ESG (Environmental, Social, and Governance) กลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ธุรกิจต้องปรับตัว ไม่ใช่เพียงเพื่อรักษาภาพลักษณ์ แต่เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว
ความยั่งยืน: ปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจปี 2025
ในโลกยุคใหม่ที่ทรัพยากรเริ่มขาดแคลนและความต้องการสินค้าที่ยั่งยืนเพิ่มขึ้น ผู้บริโภคและนักลงทุนเริ่มหันมาสนใจธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาลที่โปร่งใส (ESG) มากขึ้น การทำธุรกิจในปี 2025 ไม่ใช่เพียงแค่การตอบสนองต่อความต้องการในปัจจุบัน แต่เป็นการสร้างระบบที่สามารถรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้
- การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า: การจัดการพลังงาน การลดของเสีย และการใช้วัสดุรีไซเคิลไม่ใช่แค่เรื่องของภาพลักษณ์ แต่ช่วยลดต้นทุนและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
- การมีส่วนร่วมกับชุมชน: ธุรกิจที่ส่งเสริมชุมชนท้องถิ่นและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมจะมีโอกาสสร้างความไว้วางใจและความภักดีในระยะยาว
- การนำเทคโนโลยีมาใช้ในแนวทางที่ยั่งยืน: เช่น การใช้ AI และ Big Data เพื่อปรับปรุงการผลิตหรือวางแผนการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
จีโนซิส (GNOSIS) เชื่อว่า ความยั่งยืน (Sustainability) ไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน SMEs ไทยที่ปรับตัวได้ก่อนจะมีโอกาสสร้างความได้เปรียบในระยะยาว
5 กลยุทธ์ธุรกิจสำคัญเพื่อเตรียมพร้อมในปี 2025
เมื่อกำลังซื้อภายในประเทศอ่อนแอ และการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงขึ้น ธุรกิจ SMEs และ แฟรนไชส์ ต้องปรับตัวอย่างชาญฉลาดเพื่อความอยู่รอดและเติบโตต่อไปในสถานการณ์เช่นนี้ ต่อไปนี้คือ 5 กลยุทธ์สำคัญที่ จีโนซิส รวบรวมมาให้ธุรกิจสามารถนำไปปรับใช้เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายและสร้างโอกาสในปี 2025
1. การบริหารต้นทุนอย่างชาญฉลาด
1.1 ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น:
- ทบทวนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าโสหุ้ย การใช้พลังงาน และการจัดการสต็อกสินค้า จำแนกค่าใช้จ่ายที่ “จำเป็น” และ “ไม่จำเป็น” โดยพิจารณาว่าส่วนใดส่งผลโดยตรงต่อผลผลิตหรือคุณค่าทางธุรกิจ
ถามว่า:ค่าใช้จ่ายนี้มีผลต่อการเพิ่มรายได้หรือไม่?, ค่าใช้จ่ายนี้ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพหรือคุณภาพหรือไม่?, มีทางเลือกอื่นที่ถูกกว่าและให้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันหรือไม่? เป็นต้น
- ใช้ระบบ ERP หรือซอฟต์แวร์บริหารจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในทุกส่วนของธุรกิจ เช่นใช้ระบบจัดการสต็อกสินค้าแบบเรียลไทม์ เพื่อลดต้นทุนที่เกิดจากการเก็บสต็อกมากเกินไป
1.2 เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต:
- นำ Lean Management มาใช้เพื่อลดความสูญเสียในกระบวนการผลิต โดยลดหรือกำจัดความสูญเสีย (Wastes) ที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับลูกค้าออกจากกระบวนการผลิตและการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารสามารถลดการสต็อกวัตถุดิบสด โดยเปลี่ยนไปสั่งซื้อแบบรายวันหรือรายสัปดาห์จากซัพพลายเออร์ที่อยู่ใกล้ หรือธุรกิจเครื่องดื่มอาจปรับสูตรให้ลดขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบโดยใช้เครื่องจักรที่มีความแม่นยำ
- ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือเปลี่ยนมาใช้ไฟ LED ซึ่งคาดว่าปี 2025 ค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้นอีก จากแนวโน้มราคาน้ำมันสูง หากเกิดสงคราม และภาวะโลกร้อน
2. การขยายตลาดและสร้างรายได้ใหม่
2.1 ขยายตลาดต่างประเทศ:
- สำรวจตลาดใหม่ เช่น ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งกำลังซื้อยังคงเติบโต และความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ในปีที่ผ่านมา Gnosis ได้จับคู่ธุรกิจระหว่างแบรนด์ไทย และ แฟรนไชส์ซีในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น แฟรนไชส์อาหารไทย ที่ขยายไปสู่ประเทศในแถบเอเชีย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ด้วยการปรับรสชาติและกลยุทธ์การตลาดให้เหมาะกับพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละประเทศ
- ใช้ช่องทางออนไลน์ เช่น e-commerce และการจัดส่งสินค้าไปยังตลาดต่างประเทศ
2.2 เพิ่มบริการเสริม:
- พัฒนาสินค้าและบริการที่ต่อยอดจากธุรกิจหลัก เพราะการพึ่งพิงรายได้จากธุรกิจหลักเพียงอย่างเดียวอาจเสี่ยงต่อความผันผวน
เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์อาหารอาจ เพิ่มบริการจัดเลี้ยงหรือลงทุนใน Cloud Kitchen เพิ่มผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน (Ready-to-Eat Products) เพิ่มบริการสอนทำอาหาร เป็นต้น
2.3 สร้างธุรกิจดิจิทัล:
- ขายสินค้าหรือบริการในรูปแบบ Subscription หรือ Membership เพื่อสร้างรายได้ต่อเนื่อง เช่น บริการจัดส่งอาหารหรือวัตถุดิบถึงบ้านรายเดือน, Membership คลินิกเสริมความงามที่รวมบริการดูแลผิวในราคาพิเศษ, บริการจัดส่งเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับตามสไตล์ที่ลูกค้าเลือก เป็นต้น
3. การสร้างแบรนด์ที่มีคุณค่าและยั่งยืน
3.1 นำแนวคิด ESG มาปรับใช้:
- สื่อสารความยั่งยืนของแบรนด์ เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการสนับสนุนชุมชน ตัวอย่างเช่น สินค้ากลุ่มออร์แกนิกหรือสินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลมักขายได้ในราคาสูงกว่า เนื่องจากตอบโจทย์ตลาดเฉพาะ
- สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ เช่น สินค้าที่บอกเล่าเรื่องราวของวัตถุดิบจากท้องถิ่น
3.2 สร้างแบรนด์ที่โดดเด่น:
- ลงทุนใน Content Marketing เพื่อเล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับลูกค้า
- ใช้โซเชียลมีเดียในการสร้างชุมชนออนไลน์ของแบรนด์
ตัวอย่าง: แฟรนไชส์ร้านอาหารอาจจัดแคมเปญพิเศษในชุมชน เช่น การจัดอบรมเรื่องโภชนาการสำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกล โดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการผลิต
4. การเพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี
4.1 ลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล:
- ใช้ระบบ CRM (Customer Relationship Management) เพื่อติดตามพฤติกรรมลูกค้าและปรับกลยุทธ์การขาย ยกตัวอย่างร้านอาหารใช้ CRM ในการสะสมแต้มให้ลูกค้าประจำ เช่น ทุกการใช้จ่าย 100 บาทจะได้รับแต้มสะสมเพื่อแลกรับส่วนลด เครื่องมือ CRM ยอดนิยม ได้แก่ Salesforce และ HubSpot อันนี้เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ใช้งานฟรีในฟีเจอร์พื้นฐาน สำหรับของไทย ใช้ MyCustomer | CRM ของ Line for Business
- ใช้ AI และ Big Data วิเคราะห์แนวโน้มตลาดและการบริโภค เช่น Amazon ใช้ AI Recommendation System ที่เรียนรู้จากพฤติกรรมการซื้อและการค้นหาของลูกค้า เพื่อแนะนำสินค้าในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เมื่อคุณซื้อกล้องถ่ายรูป ระบบจะแนะนำเลนส์กล้อง กระเป๋ากล้อง หรืออุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวข้อง หรือในระบบการสั่งซื้ออาหาร หากลูกค้าซื้อเครื่องดื่ม AI อาจแนะนำขนมหรืออาหารว่างที่จับคู่กันได้ดี เพิ่มยอดเฉลี่ยต่อบิล
- ใช้เทคโนโลยีในการสร้างบรรยากาศเฉพาะของแบรนด์ ด้วยระบบการคัดเลือกเสียง เพลง และกลิ่น กระตุ้นยอดขายได้ (อ่านเพิ่มเติม พลังเสียงและกลิ่น: สูตรลับกระตุ้นยอดขายและความจงรักภักดี)
4.2 เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์:
- ขยายธุรกิจบนแพลตฟอร์ม e-commerce และสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งออนไลน์ที่สะดวก
4.3 นำ Automation มาใช้:
- ใช้ Chatbot คำถามลูกค้าได้ทันที เช่น การแจ้งข้อมูลสินค้า สถานะคำสั่งซื้อ หรือโปรโมชั่น
- ลดต้นทุนการดำเนินงานในส่วนที่ซ้ำซ้อน เช่น ใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในสายการผลิตเพื่อลดเวลาและข้อผิดพลาด, ตู้สั่งอาหารอัตโนมัติ (Self-Service Kiosks) ที่ลูกค้าสามารถสั่งอาหารและชำระเงินได้โดยไม่ต้องผ่านพนักงาน
5. การพัฒนาทักษะและทีมงาน
เพื่อลดช่องว่างทักษะ (Skill Gap) ระหว่างความสามารถปัจจุบันของพนักงานกับความต้องการของตลาด การพัฒนาทักษะช่วยให้ทีมงานสามารถปรับตัวเข้ากับบทบาทหน้าที่ใหม่ได้อย่างรวดเร็วเมื่อธุรกิจต้องการเปลี่ยนแปลง และพนักงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะมักรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีโอกาสเติบโตในองค์กร ซึ่งช่วยลดการลาออก และแน่นอนว่า ลดต้นทุนในการสรรหาและฝึกอบรมพนักงานใหม่
5.1 พัฒนาทักษะใหม่ให้พนักงาน เช่น จัดอบรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการตลาดออนไลน์ และเพิ่มทักษะการบริหารจัดการเพื่อให้แฟรนไชส์ซีมีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ดีขึ้น
5.2 สร้างความคล่องตัวในองค์กร (Agile Organization) เช่น สนับสนุนให้ทีมงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและแก้ปัญหา และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
5.3 สร้างแรงจูงใจและรักษาพนักงานที่มีความสามารถ เช่น ใช้ระบบการให้รางวัลและการยกย่องที่สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงาน
บทสรุป: การปรับตัวที่ชาญฉลาดเพื่อเติบโตในปี 2025
เศรษฐกิจชะลอตัวอาจเป็นบททดสอบที่ยากสำหรับ SMEs และธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ด้วยกลยุทธ์ที่เน้นการบริหารต้นทุน การสร้างรายได้ใหม่ ความยั่งยืน การใช้เทคโนโลยี และการพัฒนาทีมงาน ธุรกิจจะสามารถรับมือกับความท้าทายและเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสในการเติบโต
Gnosis Advisory จีโนซิส พร้อมเป็นที่ปรึกษาในการสร้างกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณ เพราะเราเชื่อว่า การปรับตัวอย่างชาญฉลาดในวันนี้ คือกุญแจสู่ความสำเร็จในวันพรุ่งนี้!
#เศรษฐกิจไทยปี2025 #เติบโต #ท้าทาย #ที่ปรึกษาธุรกิจ #ที่ปรึกษาแฟรนไชส์ #จับคู่ธุรกิจ