การฝึกกีฬาที่เป็นอันตรายอย่างเช่นกีฬาสกี กีฬายูโด กีฬายิมนาสติกต่างๆ เป็นต้น นักกีฬาควรเรียนรู้ว่าจะล้มอย่างไรเพื่อลดความเจ็บปวด หรือลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมุ่งหวังเพียงจะมุ่งไปข้างหน้าแบบไม่ระวังตัวการล้มครั้งนั้นอาจทำให้เราลุกไม่ขึ้นเลย ในโลกของธุรกิจ บริษัทหรือผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จเกือบทั้งหมดต้องผ่านความล้มเหลวมากันอย่างมากมาย ไม่ได้มีสถิติวัดชัดเจนว่าต้องล้มซะกี่ครั้งถึงจะสำเร็จ แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นแน่ๆ หากรู้จักลุกขึ้นมาฝ่าฟันแรงต้านต่างๆ ได้
ทำธุรกิจอย่างไรให้ล้ม หรือให้รอด
การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ความล้มเหลวของคนอื่นๆ จะช่วยลดแรงฉุดการล้มของธุรกิจได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยได้ฉุกคิดจัดทำแผนป้องกันหรือเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไม่ให้หนักจนเกินทน เมื่อวันเสาร์ที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา (พ.ศ.2553) ในงานเสวนา “ก้าวแรก…สู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” จัดโดย Life101 คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท จีโนซิส จำกัด ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการให้คำปรึกษาธุรกิจหลายประเภท แนะนำผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นธุรกิจหรือวางแผนจะดำเนินธุรกิจ สัมมนาในหัวข้อ “ทำธุรกิจอย่างไรให้ล้ม หรือให้รอด” ซึ่งสรุปสาเหตุหรือข้อผิดพลาดต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ ปัญหาของผู้ประกอบการ และปัจจัยที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
ข้อผิดพลาดเมื่อเริ่มต้นธุรกิจ ได้แก่ไม่มีความเป็นเอกลักษณ์และ Core Competency (ความสามารถเฉพาะทาง), ไม่ได้ทำวิจัยหรือศึกษาธุรกิจที่จะทำอย่างเพียงพอจึงคาดคะเนขนาดตลาดและเวลาผิดพลาด, ประเมินรายได้สูงเกินไปและประเมินค่าใช้จ่ายต่ำไป, ไม่รับรู้ความจริง, จ้างคนลวกๆ, ยอมแพ้เร็วเกินไป, และไม่ได้เตรียมแผนการรองรับเมื่อเกิดปัญหา
บรรยากาศในการเสวนา
วิทยากร ผู้เข้าร่วมฟังเสวนา และทีมผู้จัดงาน
ปัญหาของผู้ประกอบการ ได้แก่การลงทุนที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเดิม, ขาดการวางแผนเรื่องระบบงานต่างๆ เช่นการจัดการทางการเงิน ไม่มีแผนการลงทุนหรืองบประมาณ, บุคคลากรที่สำคัญหรือ Key Man ลาออกไป เป็นต้น
ปัจจัยความสำเร็จของผู้ประกอบการคือ ต้องรู้จริง กล้าเปลี่ยนแปลง และมี Core Competency
คุณเศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ ได้สรุปประเภทธุรกิจที่จัดตั้งและยกเลิกในไตรมาสแรกของปี 2553 และสรุป 5 อันดับธุรกิจบริการและธุรกิจการผลิต ที่มีอัตราผลตอบแทนจากการดำเนินงานสูงสุด และต่ำสุดในปี 2553 ดูวิดีโอและภาพการสัมมนาบางส่วนต่อไปนี้